
อย่างที่ทราบกันดีว่าปีนี้ประชาชนชาวไทยจะไม่ได้รับคำทำนายจากพระโคในวันพืชมงคลที่ผ่านมา สืบเนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทำให้งานประจำปีและประเพณีต่างๆ ได้ถูกงดหรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาว่าจะไม่มีพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหรือประเพณีเสี่ยงทายพระโคประจำปีนี้ รวมถึงจะไม่มีการถ่ายทอดสดการประกอบพิธีทางโทรทัศน์ดังเช่นปีที่ผ่านมาด้วย

สำหรับวันพืชมงคลปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นที่น่าเสียดายของเกษตรกรชาวไทยที่ให้ความสนใจและเตรียมเดินทางมาเพื่อรอชมพระราชพิธี และรอเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวจากพิธีไปเพื่อเพาะปลูก โดยมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเมล็ดข้าวจากพระราชพิธีนั้นจะทำให้ได้ผืนนาที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวออกดอกออกรวงสวย เกษตรกรจากทุกหนทุกแห่งในประเทศไทยจึงร่วมเดินทางกันไปรอชมพระราชพิธีและเก็บข้าวจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญกันเป็นประจำในทุกปี

วันพืชมงคล คือ วันที่กำหนดให้จัดพระราชพิธีซึ่งเรียกชื่อเต็มว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบพิธีนี้สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยประชากรไทยสมัยโบราณมีอาชีพเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จึงมีประเพณีโบราณหลากหลายแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละภาคที่เกี่ยวข้องกับการขอฝน ขอเทวดา เสี่ยงทาย ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชสวนไร่นาของเกษตรกร พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็นับเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกรไทย และถือเป็นพิธีกรรมที่เป็นศูนย์กลางที่ทุกภาคทั่วประเทศไทยย่อมรู้จักและเชื่อถือกันมานาน โดยจุดประสงค์การจัดกิจกรรมพระราชพิธีในวันพืชมงคลนี้นั้นก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรของประเทศ และเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของเกษตรกรไทยที่ปลูกพืช ปลูกข้าวให้คนไทยได้บริโภค
พระราชพิธีในวันพืชมงคลนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเกี่ยวกับพระราชพิธีมงคลนั่นก็คือพิธีสงฆ์ และอีกส่วนเกี่ยวกับการเสี่ยงทายของพระโค โดยในพิธีเสี่ยงทายนี้จะใช้เมล็ดพืชต่างๆ ที่เป็นเมล็ดพืชหลักๆ ที่คนไทยนิยมเพาะปลูก ได้แก่ ข้าวเปลือก(ข้าวเจ้า) ข้าวโพด ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ถั่ว งา เผือก มัน และอื่นๆ โดยก่อนอื่นจะเริ่มทำขวัญให้แก่เมล็ดพืชทุกชนิดที่เตรียมมาก่อนเพื่อให้เป็นสิริมงคล ต่อมาจึงทำพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งก็คือการไถนา และหว่านเมล็ดลงไป โดยแต่โบราณมาการทำพิธีนี้เป็นสัญญาณให้เกษตรกรทราบว่าฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นสำหรับปีนี้แล้ว เป็นการอวยชัยให้พรผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ ออกดอก ออกผล เจริญงอกงามโดยทั่วทั้งผืนแผ่นดินไทย

เราอาจจะคุ้นเคยกันมาแต่เล็กแต่น้อยว่าพระราชพิธีวันพืชมงคลจะต้องจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง แต่ก่อนพระราชพิธีวันพืชมงคลจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ท้องสนามหลวงนั้นเคยจัดขึ้นที่ทุ่งนาพญาไทมาก่อน ต่อมาได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ครบถ้วน จึงได้ย้ายมาจัดที่ท้องสนามหลวงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และประกาศให้วันพืชมงคลคือวันหยุดราชการของไทยด้วย เพราะถือว่ามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย คนไทยทุกครัวเรือนสามารถรับชมพระราชพิธีและลุ้นพระโคเสี่ยงทายเพื่อกำหนดดวงชะตาการเกษตรซึ่งเป็นเม็ดเงินเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยร่วมกันได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้นจึงจะเห็นได้ว่าวันพืชมงคลมิใช่เป็นเพียงวันสำคัญต่อเกษตรกรไทยเพียงเท่านั้น ยังมีความสำคัญต่อคนไทย ทำให้เห็นคุณูปการของเกษรกรไทย ผืนแผ่นดินไทย ความเชื่อและศาสนาที่อยู่คู่คนไทย และยังเป็นการสืบทอดประเพณีที่ดีงามของคนไทยที่สั่งสมกันมาตั้งแต่ช้านานด้วย
#ความสำคัญของพืช#วันพืชมงคล#ความเป็นมาของวันพืชมงคล#omgnadinechristine#event.sanook