ดอกไม้ในประเทศไทยมีหลากหลายให้เลือกสรรแต่ถ้าจะกล่าวถึงดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมชื่นใจเราก็คงคิดถึง “ดอกมะลิ” เป็นสิ่งแรกเพราะมะลินั้นเป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี มีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมพูดได้ว่าเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมละมุนที่สุดเลยก็ว่าได้ ทำให้มะลิถูกนำไปเปรียบกับความสูงส่งดีงาม และกลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ คนไทยยังนิยมใช้มะลิในพิธีการสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะร้อยมาลัยถวายพระ นำมาทำพานพุ่มไหว้ครู หรือ นำดอกมะลิมาใช้ในงานรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ ทำให้ดอกมะลิในวัฒนธรรมไทย จึงมักมีความผูกพันกับของสูง นั่นอาจเป็นเพราะมะลินั้นถือเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมากกว่าดอกไม้อื่นๆ ทั้งมวล จึงเหมาะจะนำมาใช้แสดงความเคารพบูชาอย่างสูงสุดต่อผู้มีพระคุณ ที่อยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยมาแต่โบราณกาล
ในด้านของความเชื่อของคนไทยเชื่อว่าการปลูกต้นมะลิไว้ในบริเวณบ้าน จะทำให้มีความสงบสุข ร่มเย็น เป็นที่รักและประทับใจกับคนรอบข้าง ช่วยเกื้อหนุนให้เกิดความกตัญญูของผู้เป็นลูกที่มีต่อแม่ และเพื่อความสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นมะลิไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และให้ปลูกในวันพุธเพื่อเอาคุณ เพราะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง และยังเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป โดยต้นมะลิที่นิยมปลูกไว้ในบ้านเพื่อความเป็นมงคลมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ มะละฉัตร มะลิซ้อน มะลิวัลย์ มะลิพวง และพุทธชาด นอกจากนี้ต้นมะลิยังเป็นต้นไม้ประจำวันเกิดของผู้เกิดวันจันทร์อีกด้วย ซึ่งหมายถึง ความนุ่มนวลอ่อนโยน เรียบร้อย และอ่อนหวาน มะลินอกจากจะมีกลิ่นที่หอมเป็นที่น่าจดจำแล้วมะลิยังมีดีอีกอย่างหลายๆอย่าง
สรรพคุณทางยาของมะลิ จากตำหรับยาไทยได้ระบุไว้ว่า ใช้บำรุงหัวใจ ถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน บำรุงครรภ์รักษา แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เจ็บตา ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น เนื่องจากมีรสฝาดสมาน จึงช่วยสมานท้อง แก้บิด แก้ปวดท้อง แก้แผลเรื้อรัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน น้ำแช่ดอกสดบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น นำดอกสดตำใส่พิมเสน สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้ตัวร้อน แก้หวัด แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แต่อย่างไรก็ตามอย่าใช้มากจนเกินไปเพราจะทำให้แสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่น ดอกมะลิหรือส่วนต่างๆ ของมะลิยังมีสรรพคุณอีกหลากหลายมากมาย ก่อนที่จะนำมะลิมาใช้เป็นยารักษาโรคควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบชัดเจนก่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum Sambac (L.) Aiton
ชื่อสามัญ : Arabian jasmine
ตระกลู : OLEACEAE
ชื่ออื่น : มะลิ, มะลิลา (ทั่วไป), มะลิซ้อน (ภาคกลาง), มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิป้อม (ภาคเหนือ), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : มะลิเป็นไม้พุ่ม บางพันธุ์เป็นไม้รอเลื้อย สูง 0.3-4 เมตร ใบเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อย ใบเดี่ยว รียาว กว้าง 3-5.5 ซม. ยาว 5-10 ซม. ดอกเป็นช่อเล็ก ๆ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ดอกสีขาว โคนดอกติดกันเป็นหลอด สีเขียวอมเหลือง ดอกกลางบานก่อน กลีบเลี้ยงแยกเป็นส่วน 7-10 ส่วน มะลิเหมาะกับอากาศร้อนอบอ้าวมากกว่าอากาศหนาวเย็น